11 หน่วยงาน รุกขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้บุคลากรภาครัฐ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาหนี้สินเงินกู้แก่บุคลากรภาครัฐ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567 โดย ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

วันที่ 15 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกำกับแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนรายย่อย นำหัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ รายงานความคืบหน้าภารกิจการแก้ไขหนี้สินข้าราชการ และบุคลากรภาครัฐ  ตลอดจนอุปสรรคและข้อจำกัดจากการดำเนินงาน เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และประชาชนรับทราบ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยพลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวแถลงว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยขณะนี้มีหนี้รวมสูงกว่า 6 ล้านล้านบาท และมีหนี้สินในทุกประเภทสินเชื่อ ซึ่งทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงขอรายงานหนี้สินทั้งระบบในภาพใหญ่ ได้แก่ หนี้บ้าน เช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเกษตร และอื่น ๆ ล้วนมีความซับซ้อนและมีความไม่เป็นธรรม

ในเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องเข้ารับการสนับสนุนแก้ไขจากอำนาจฝ่ายบริหาร หน่วยงานในเชิงนโยบาย นิติบัญญัติ และตุลาการเพื่อนำมาซึ่งกระบวนการไกล่เกลี่ย และบังคับคดีที่เหมาะสม

คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนคณะรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการที่ชัดเจนในการแก้ไขหนี้สินบุคลากรภาครัฐเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ดังนี้ 
1.    ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงาน ปรับปรุงกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนให้เงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามแนวทางระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ 2551 
2.    สถาบันการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง 
3.    กรมส่งเสริมสหกรณ์ดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยและกำหนดค่างวดเงินต้นให้เหมาะสม และใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้ลงตามความจำเป็น 
4.    การแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้ของบุคลากรภาครัฐนับเป็นยอดหนี้ที่มีจำนวนมาก บุคลากรจำนวน 3.1 ล้านคน ที่เป็นลูกหนี้เงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ จำนวน 1,378 แห่ง รวมจำนวนลูกหนี้ 2.8 ล้านคน คิดเป็นหนี้รวม 3.3 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้ ลูกหนี้จำนวนหนึ่งยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ แต่มีบุคลากรภาครัฐจำนวนมากที่มีรายได้สุทธิหลังหักชำระหนี้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมาก จึงกระทบต่อการดำรงชีพอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การดำเนินการตามข้อสั่งการดังกล่าวมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 11 หน่วยงานรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรี และขอรับทราบนโยบายต่อไป

กระทรวงกลาโหม
พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวแถลง ปัญหาหนี้สินของข้าราชการทหารกระทรวงกลาโหม กองทัพได้ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยได้แบ่งการแก้ปัญหาเป็นเชิงนโยบาย และข้อกฎหมาย มีมาตรการต่าง ๆ ในการแบ่งเบาภาระของกำลังพลชั้นผู้น้อย รายละเอียดมาตรการ ดังนี้
1.    การกำหนดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมให้ต่ำกว่าสถาบันการเงิน 
2.    การอบรมให้ความรู้ด้านการเงิน การทำบัญชีครัวเรือน การประสานทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ย การช่วยเจรจาประนอมหนี้ 
3.    กองทัพได้ทำโครงการเพิ่มรายได้ให้กับกำลังพลตามพื้นที่ต่าง ๆ ควบคู่กับการแก้ปัญหาหนี้สิน เช่น โครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ และโครงการตลาดนัดสินค้าราคาถูก เป็นต้น 
4.    การเพิ่มรายได้ครอบครัวของทหารชั้นผู้น้อย เช่น การหางานพิเศษให้กับภรรยาของทหารโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการดูแลบุตรและบุพการี 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 สภากลาโหมได้แก้ไขมติสภากลาโหมเดิมที่กำหนดให้ข้าราชการที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะทำหนี้สินขึ้นจะต้องถูกปลดออกจากราชการทันที มติสภากลาโหมใหม่ แก้เป็น หลุดออกจากราชการกรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริตเท่านั้น โดยเพิ่มคำว่า “ทุจริตเท่านั้น”

การแก้ไขดังกล่าวสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 ซึ่งมีหลักการให้การเป็นบุคคลล้มละลายส่งผลต่อความสามารถในการทำงานและเจ้าหนี้รับประโยชน์จากการที่ลูกหนี้ไม่มีรายได้ จึงเป็นข้อสังเกตสำคัญที่ทำให้ส่วนราชการแก้ไขยกเลิกกฎหมายที่มีความรับผิดชอบจึงเป็นที่มาของการแก้ไขมติสภากลาโหมครั้งนี้ นโยบายและแนวทางการแก้ไขหนี้สินข้างต้น กระทรวงกลาโหมจะบรรจุในนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ทุกส่วนราชการในกำกับได้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลพร้อมเพรียงกันเพื่อให้ข้าราชการกลาโหมมีคุณภาพชีวิตที่ดี

กองบัญชาการกองทัพไทย
พลเอก อนุสรรค์ คุ้มอักษร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวแถลง หนี้สินของข้าราชการทั้งหมดมีมากถึง 3 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อสวัสดิการที่หักเงินเดือนเกิน 90% บางกลุ่มมีการชำระหนี้ที่เกินศักยภาพ กองทัพตระหนักดีว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องด่วนของชาติ จึงมีระเบียบหลักเกณฑ์ในการหักเงินเดือนให้มีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 30% ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีกำลังพลจำนวนมากมีเงินเหลือต่ำกว่า 3,000 บาท ทำให้มีเงินเหลือวันละ 100 บาท หากมาตรการข้างต้นสำเร็จผลจะช่วยให้ข้าราชการหลุดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวเกิน 100,000 ราย

ระเบียบดังกล่าวจะเป็นการสร้างกรอบที่ถูกต้องในการกู้ยืมเงินภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม ข้าราชการจะได้ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบหรือสินเชื่อต่าง ๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ดังนั้น ขอสนับสนุนการนำระเบียบหักเงินเดือนกระทรวงศึกษาธิการไปใช้กับทุกส่วนราชการอย่างจริงจัง ตามมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

การปรับปรุงกลไกสินเชื่อข้าราชการ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ให้เกิดความเป็นธรรม ถือเป็นประเด็นความมั่นคงของกำลังพล และมีความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจของชาติ กองทัพไทยเห็นด้วย และพร้อมเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ กับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้ฯ ทุกหน่วยงานอย่างเต็มกำลัง

กองทัพบก
พลเอก สวราชย์ แสงผล หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก กล่าวแถลง กองทัพบกให้ความสำคัญในการดูแลช่วยเหลือกำลังพลในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งโครงสร้างหนี้ การปรับลดเพดานดอกเบี้ย แก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งการช่วยเหลือกำลังพลที่ถูกฟ้องล้มละลาย หรือพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เช่น 
•    โครงการพักชำระหนี้เงินกู้จากกิจการออมทรัพย์กองทัพบก เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนด้านการเงินให้กำลังพลกลุ่มนี้ที่มีรายได้น้อย ขาดสภาพคล่องให้ได้พักหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย
•    โครงการสินเชื่อเพื่อการบริหารหนี้ส่วนบุคคล โดยให้กำลังพลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและอาจถูกฟ้องล้มละลาย กู้ยืมเงินจากกิจการออมทรัพย์กองทัพบก เพื่อนำไปปรับลดหนี้สินโดยทำการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในและนอกระบบ
•    โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพล โดยบูรณาการงานด้านสวัสดิการของหน่วยเพื่อให้หน่วย
ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพลที่มีรายได้ไม่ถึง 1 ใน 3 หรือไม่ถึงเดือนละ 5,000 บาท ด้วยการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และประกอบอาชีพเสริม 
•    โครงการอบรมความรู้ด้านการเงินให้แก่กำลังพลที่มีหนี้สิน รวมทั้งขอความร่วมมือจากกิจการออมทรัพย์ของหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก และหน่วยรอง ให้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เป็นต้น 
•    จัดทำข้อตกลงร่วมกับธนาคารต่าง ๆ เพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เป็นสวัสดิการสำหรับข้าราชการกองทัพบก กู้เงินยืมเพื่อที่อยู่อาศัย เช่น ธนาคารออมสิน กรุงไทย ทหารไทยธนชาติ และ ธอส.

ทั้งนี้ แม้ว่ากองทัพบกจะมีนโยบายและดำเนินการช่วยเหลือกำลังพลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้ว แต่ยังมีปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยสูงจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ส่งผลให้กำลังพลไม่สามารถปลดหนี้ได้ กองทัพบกจึงขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาล รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องขอให้พิจารณาทบทวนปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงดอกเบี้ยต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม สามารถเป็นดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อข้าราชการได้

นอกจากหนี้สินสถาบันการเงินแล้ว กำลังพลจำนวนหนึ่งยังมีหนี้สิน กยศ. ตั้งแต่ก่อนเข้ารับราชการ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการผิดชำระหนี้เงินกู้ ทำให้ต้องชำระอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก ในอัตราร้อยละ 18 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากและส่งผลให้หนี้สินเพิ่มพูนขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินทางการเงินเรื้อรังในระยะยาว กองทัพบกจึงมีความประสงค์ขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลและส่วนที่เกี่ยวข้องให้บังคับใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัด เป็นร้อยละ 0.5 ตาม พ.ร.บ. ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ให้มีผลโดยเร็วที่สุด

กองทัพเรือ
พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือ กองทัพเรือ กล่าวแถลง กองทัพเรือมีข้าราชการ จำนวน 40,000 คน มีราชการที่รับเงินเดือนไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ประมาณ 10,000 คน หรือ 1 ใน 4   ของราชการทั้งหมด กองทัพเรือจึงได้นำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ผ่าน 2 มาตรการ 
•    มาตรการเชิงป้องกัน เน้นให้ความรู้ด้านบริหารการเงิน การส่งเสริมการออม ให้กำลังพล
มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต พร้อมดำเนินโครงการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยการหาที่พักให้กำลังพลที่บรรจุใหม่ และส่งเสริมการเพิ่มอาชีพให้กับกำลังพลและครอบครัว
•    มาตรการแก้ไขหนี้สิน กองทัพเรือได้ดำเนินโครงการช่วยปลดลดภาระหนี้ในกับกำลังพล โดยกลไกของสหกรณ์ในกองทัพเรือ ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ทหารไทยธนชาติ ออมสิน ในการประนอมหนี้ เจรจาเจ้าหนี้ เพื่องดชำระหนี้ หากชำระเงินทุนหมดแล้ว การลดดอกเบี้ย การรวมหนี้ไว้ในที่เดียวกัน การขยายการชำระหนี้ออกไปเป็น 240 งวด มีกำลังพลเข้าร่วมโครงการ 315 นาย สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้แล้ว 84 นาย ยอดหนี้ลดลงไปกว่า 15 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการส่วนที่เหลือต่อไป

กองทัพอากาศ
พลอากาศเอก ณรงค์ อินทชาติ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวแถลง หลังจากที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนรายย่อย ได้ร่วมหารือกับกองทัพอากาศ เมื่อเดือนมกราคม 2567 ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลกองทัพอากาศ และกำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วน โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับ 5 มาตรการหลักของรัฐบาล

กองทัพอากาศ ได้ลงมือปฏิบัติอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการฯ ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธาน และกำหนดนโยบายเร่งด่วนให้กำลังพลทุกคนต้องมีเงินเหลือสุทธิ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีและประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลกองทัพอากาศได้ตรวจสอบสถานภาพการรับเงินเดือนของทางราชการ พบว่า มีข้าราชการที่รับเงินเดือนต่ำกว่า 30% จำนวน 8,000 ราย ในจำนวนนี้มีข้าราชการที่ถูกอายัดเงินเดือน 53 ราย ซึ่งถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องให้ความช่วยเหลือข้าราชการกลุ่มดังกล่าว 

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลกองทัพอากาศ ได้ส่งรายชื่อข้าราชการให้แก่หัวหน้าหน่วยขึ้นตรง ดำเนินการตรวจสอบภาระหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งในระบบและนอกระบบ และนำข้อมูลทั้งหมดเข้าพิจารณาในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพลกองทัพอากาศ เพื่อหาหนทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาหนี้สิของกำลังพล โดยประสานสถาบันการเงิน เพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการกองทัพอากาศ โดยการลดอัตราดอกเบี้ย ให้รายรับของข้าราชการ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ กองทัพอากาศ ได้มีนโยบายด้านการป้องกันการเกิดปัญหาหนี้สิน โดยมีการจัดการฝึกอบรมปลูกจิตสำนึกด้านการเงิน ให้แก่ข้าราชการในทุกระดับ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สิน 

หนี้สินที่เกิดขึ้นในของข้าราชการกองทัพอากาศส่วนใหญ่ ไม่ได้กู้ยืมเพื่อไปทำธุรกิจโดยหวังผลกำไร แต่เพื่อเป็นการหล่อเลี้ยงครอบครัว ซื้อที่อยู่อาศัย รักษาพยาบาลบุพการี หรือใช้ในยามฉุกเฉิน ดังนั้น การทำให้ข้าราชการหลุดออกจากวงจรหนี้ คือการที่รัฐบาลและผู้บังคับบัญชา ต้องให้ความสำคัญกับระบบสวัสดิการที่ดีของข้าราชการ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาข้าราชการที่ถูกอายัดเงินเดือน จำเป็นต้องใช้เงินจากกองทุนเพื่อดำเนินโครงการในเบื้องต้น ซึ่งกองทัพอากาศไม่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อแก้ไขนี้ได้ จึงขอการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้ กองทัพอากาศ พร้อมให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาเงินกู้ การจัดการอย่างเต็มกำลังความสามารถ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พลตำรวจโท ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล กล่าวแถลง ภาพรวมหนี้สินของตำรวจจำนวนกว่า 200,000 คน มีหนี้สินราว 150,000 คน คิดเป็น 80% ของบุคลากรทั้งหมด หนี้สินยอดรวม 170 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
•    กลุ่มสีเขียว คือ สามารถผ่อนชำระได้ จำนวน 140,000 คน คิดเป็นร้อยละ 99.4 
•    กลุ่มสีเหลือง คือ มีกำลังผ่อนได้ จำนวน 600 คน คิดเป็นร้อยละ 0.5 
•    กลุ่มสีแดง คือ ถูกฟ้องร้อง ไม่มีกำลังชำระ ประมาณ 156 คน คิดเป็นร้อยละ 0.1 
โครงการชำระหนี้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 10,000 คน คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการแก้หนี้เสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 7,000 คน ยอดหนี้ที่แก้ไปกว่า 10 ล้านบาท มีผู้ลาออกจากโครงการประมาณ 3,000 คน เนื่องจากดำเนินการไปแล้วสามารถมีกำลังแก้ไขปัญหาส่วนตัวได้ เหลืออยู่ราว 140 ราย ที่ต้องดำเนินการมูลหนี้รวม 400 ล้านบาท โดยแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการต่อไปในอนาคต มี 3 ประการ ได้แก่
•    ป้องกันการก่อหนี้ที่ไม่เกิดมูลค่าเพิ่มในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
•    ป้องกันการก่อหนี้ที่ไม่มีกำลังชำระคืน 
•    เสริมภูมิคุ้มกัน ให้ความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลกับข้าราชการตำรวจโดยมีคาถาสำคัญ 
คือ “เร่ง - สห -รู้”
เร่ง : ให้ผู้บังคับบัญชาลงมาแก้ปัญหาหนี้สินให้กับตำรวจด้วยตนเอง
สห : การปฏิรูปสหกรณ์ให้สหกรณ์เป็นแหล่งออมเงิน และถ้าจะกู้จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำตามรัฐบาลกำหนด
รู้ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับภาคเอกชนและสถาบันการเงินให้ความรู้กับข้าราชการตำรวจ 
นอกจากนี้ ได้มีการลดอัตราเงินกู้ของสหกรณ์ โดยขอความร่วมมือกับสหกรณ์ตำรวจ จำนวน 130 แห่ง ให้มีการดำเนินการลดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่า 4.75% แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ
•    ดอกเบี้ยต่ำกว่า 4.75%  จำนวน 5 แห่ง 
•    ดอกเบี้ยระหว่าง 4.75 - 6% จำนวน 88 แห่ง 
•    สูงกว่า 6% มีจำนวน 37 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวแถลง ปัจจุบันมีข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา 450,000 คน พบว่า เป็นหนี้ 400,000 คน ในจำนวนดังกล่าวมีการแยกกลุ่มสีแดง สีเหลือง และสีเขียว เบื้องต้นได้มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขหนี้สินครูระดับกระทรวงและหน่วยงานในกำกับโดยเฉพาะ สพฐ. ที่มีข้าราชการครูมากที่สุด ได้จัดทำสถานีแก้หนี้ครูในเขตพื้นที่การศึกษา มีสถานี 245 เขตพื้นที่ กระจาย 77 จังหวัด โดยให้ครูลงทะเบียนแก้หนี้รอบแรก ครูกลุ่มสีแดง จำนวน 6,251 คน ได้ดำเนินการแก้หนี้กลุ่มที่ถูกฟ้องแล้วประมาณ 1,000 คน ประสานกับสำนักงานอัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการคุ้มครองสิทธิ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำงานเชิงบูรณาการพื้นที่ ทำให้ดำเนินการแก้หนี้ครูไปแล้ว 1,000 คน ปัญหาต่าง ๆ 
ที่สะสมลดลง ทั้งนี้ จะมีการพัฒนาให้ความรู้ทักษะทางการเงิน เช่น โค้ชหนุ่ม หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายไว้ว่า “ครูหมดหนี้มีความสุข นักเรียนเรียนดี มีความสุข”

กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวแถลง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคคลากรกระทรวงสาธารณสุขเป็นหนึ่งในนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคคลากร กระทรวงฯ ได้สำรวจหนี้สินของบุคลากร จำนวน 50,000 คน คิดเป็น 12% ของบุคลากรทั้งหมด พบว่าหนี้สิน 3 อันดับแรก คือ หนี้สหกรณ์ หนี้ส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต/หนี้บัตรกดเงินสด กระทรวงฯ ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
ระยะที่ 1 การให้อัตราสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารออมสิน 2 โครงการสำคัญ ได้แก่
•    ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เช่น ต่อเติมซ่อมแซม ซื้อบ้านหลังบ้าน รีไฟแนนซ์บ้าน ดอกเบี้ยต่ำสุด 2.45 %
•    สินเชื่อสวัสดิการอื่น ๆ เช่น รายได้บำเหน็จตกทอด สินเชื่อสวัสดิการ ดอกเบี้ยต่ำสุด 5.095 %
มีผู้เข้าร่วมโครงการ 3,041 ราย วงเงิน 1,365 ล้านบาท ทุกวันพุธบ่ายจะมีการเปิดคลินิกตรวจสุขภาพทางการเงินร่วมกับธนาคารออมสิน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค มีการสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานของบุคลากรกว่า 1,000 ทุน  คาดว่าทั้ง 2 โครงการในระยะแรกจะช่วยให้บุคลากรประหยัดค่าใช้จ่ายภาพรวมได้กว่า 6,700 ล้านบาทต่อปี
ระยะที่ 2 วางแผนการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย NPL ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้สหกรณ์ ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
•    ประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนความมั่นคงความปลอดภัยทางการเงิน เพื่อสร้าง “ครู ก.” จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ กว่า 500 คน ในการดูแลสวัสดิการ สร้างทีมการให้ความรู้ทางการเงิน
•    ได้สำรวจบุคลากรสาธารณสุขที่มีหนี้เสีย NPL จำนวน 723 คน จาก 3 สถาบันการเงินเพื่อดำเนินวางแผนติดตามแก้หนี้เสีย NPL ในแต่ละจังหวัด เพื่อให้จำนวนหนี้เสีย NPL ลดลงเป็นศูนย์

กรมส่งเสริมสหกรณ์
นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวแถลง การแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ในอัตราร้อยละ 4.75 ทางกรมฯ ได้ประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้ออกมาตรการ 4 มาตรการ 
•    กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ภายใต้โครงการไม่เกินร้อยละ 4.75 
•    ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการไปจนถึงอายุ 75 ปี
•    กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมยอดหนี้ของสมาชิก ให้มีเงินได้รายเดือนคงเหลือหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
•    กำหนดหลักเกณฑ์ผ่อนชำระเงินกู้ เฉพาะส่วนที่เกินทุนเรือนหุ้นที่สมาชิกถือไว้กับสหกรณ์
จากนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์ประชุมกับผู้บริหารและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศในการชี้แจงหลักเกณฑ์
เพื่อจะดำเนินการตามโครงการนี้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประชุมร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ จำนวน 1,300 คน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์การแก้หนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างชัดเจน ผลการดำเนินงาน ณ ตอนนี้ ที่เป็นสวัสดิการข้าราชการที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 131 แห่ง มีสมาชิกที่ได้รับประโยชน์และแก้ไขแล้ว จำนวน 73,381 ราย แต่หากรวมสหกรณ์
ออมทรัพย์ที่เป็นภาคเอกชน มีอยู่ทั้งหมด 153 แห่ง มีสมาชิกที่ได้รับการแก้ไข 76,000 คน ซึ่งในส่วนของสหกรณ์อื่น ๆ ทยอยเข้าร่วมโครงการ มีการได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ และบางส่วนมีการแก้ไขระเบียบเพื่อสามารถเข้าสู่โครงการนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์คาดหวังว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ จะได้ร่วมโครงการ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ

ธนาคารออมสิน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวแถลง ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้ดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้ 
โครงการที่ 1 การลดดอกเบี้ยทั้งในส่วนข้าราชการติดขัดเรื่องการจ่ายชำระหนี้หรือข้าราชการที่ชำระหนี้ได้ตามปกติแต่มีประวัติการชำระหนี้ดี มีการลดดอกเบี้ยไป จำนวน 367,189 ราย มูลหนี้ 294,229 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของสินเชื่อข้าราชการทั้งหมด
โครงการที่ 2 ข้าราชการที่มีประวัติ ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้ว ได้มีการเริ่มโครงการ “4 ไม่”  ได้แก่ 
1) ไม่ฟ้องดำเนินคดี
2) ไม่ฟ้องล้มละลาย
3) ไม่ยึดทรัพย์
4) ไม่ขายทอดตลาด
โดยจะมีการประเมินผลการดำเนินมาตรการอีกครั้ง จะมีส่วนในการปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็ว มีข้าราชการเข้ามาดำเนินการ และได้รับผลประโยชน์ 24,822 ราย 8,335 ล้านบาท 
โครงการที่ 3 ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับสหกรณ์เพื่อให้สหกรณ์สามารถนำไปรีไฟแนนซ์หนี้เสียหรือหนี้ที่มีดอกเบี้ยแพงได้ ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคาร ปัจจุบันมีผู้รับการขอกู้และอนุมัติไปแล้วทั้งหมด 94 แห่ง 3,227 ล้าน และมีสหกรณ์ที่ยื่นเข้ามาเพิ่มเติมอีก 25 แห่ง ประมาณ 2,500 – 3,000 ล้านบาท 
ซึ่งจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยตามที่ออกไปทั้งหมด 6,000 ล้านบาท ส่วนโครงการย่อย เช่น โครงการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้บุคลากรถาครัฐ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล ได้มีการปรับวิธีการบังคับคดีจากการไกล่เกลี่ยเพื่อลดความรุนแรง มีการฝึกอาชีพข้าราชการเพื่อให้มีรายได้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนี้ระยะยาว

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวแถลง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ธนาคารกรุงไทยได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด รวมทั้งสิ้นกว่า 20,000 ล้านบาท จำนวนกว่า 53,000 ราย และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนายกฯ ในการช่วยเหลือข้าราชการลดภาระหนี้อย่างยั่งยืน และเพิ่มความสามารถในการดำรงชีพ กรุงไทยได้นำเสนอมาตรการสินเชื่อรวมหนี้อย่างยั่งยืน อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ตลอดอายุสัญญา และลดอัตราผ่อนชำระให้มีความเหมาะสมกับการดำรงชีพ โดยได้ขยายเวลาผ่อนชำระอย่างต่อเนื่อง ได้ยาวสุด 80 ปี ให้กับข้าราชการกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อ OD ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และก่อให้เกิดภาระหนี้เรื้อรัง รวมถึงการสนับสนุนให้ความรู้เรื่องวินัยทางการเงินให้กับข้าราชการ โดยกรุงไทยตระหนักถึงข้อจำกัด ดังนี้ 
-    ข้อจำกัดที่ 1 เชิงโครงสร้างของระบบไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ NCB 147 สถาบันการเงิน และมีเพียงสหกรณ์ไม่กี่ราย ครอบคลุมจำนวนคน 33 ล้านคน จำนวน 127 ล้านบัญชี 
-    ข้อจำกัดที่ 2 บุริมสิทธิ์ของหนี้สหกรณ์ และการลำดับการตัดชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ แม้จะอยู่ภายใต้กรอบสวัสดิการก็จะขึ้นกับช่วงเวลาที่มี MOU 
-    ข้อจำกัดที่ 3 การก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาเห็นเพียงแค่หนี้ที่อยู่ในระบบ ดังนั้น หลักการ 70/30 จะสามารถดำเนินการได้เฉพาะหนี้ที่อยู่ในระบบ การมีกลไกข้อมูลที่อัพเดตปัจจุบันต่อเนื่อง จึงเป็นข้อจำกัดอีกหนึ่งข้อ

ธนาคารได้ร่วมมือกับหน่วยงานข้าราชการต้นสังกัด กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้การช่วยเหลือสัมฤทธิ์ผล ลดทอนอุปสรรค โดยรวมหนี้ทุกประเภท รวมถึงแนวทางให้ลูกหนี้แสดงเจตจำนงค์ไม่ก่อหนี้เพิ่ม หรือเกินกำลัง และกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้ทราบสถานะหนี้องค์รวมต่อเนื่อง ให้สามารถเข้าใจทุกภาคส่วนในลักษณะเชื่อมโยง โดยแหล่งที่มาของรายได้ในทุกช่วงวัย เพื่อให้เกิดการชำระหนี้อย่างเหมาะสม ไม่ผลักดันลูกหนี้ไปกู้หนี้นอกระบบและใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระลูกหลาน

การคาดการณ์ธนาคาร ได้วางลิมิตไว้ 5 หมื่นล้านบาท และจะช่วยเหลือข้าราชการได้ 5 หมื่นคน มีกรอบการเข้าร่วมโครงการ คือ กลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้มากจนไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐาน และมีเงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30% แต่ละเดือน ปิดหนี้และรวมหนี้จากทุกสถาบันการเงิน รวมทั้งรวมหนี้กับทุกสหกรณ์ เพื่อบรรลุการรวมหนี้อย่างยั่งยืน ให้มีเงินเหลือเกิน 30% ตลอดช่วงวัย โดยสามารถยังชีพ ไม่พึ่งหนี้นอกระบบ รวมทั้งแสดงเจตนารมณ์ไม่เกิดหนี้เพิ่ม รวมสิทธิบำนาญ บำเหน็จตกทอด เพื่อเชื่อมโยงการชำระหนี้ต่อเนื่องหลังการเกษียณอายุราชการ 

การรวมหนี้ทุกประเภทดังกล่าว จะทำให้ข้าราชการได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยที่เหมาะสม ให้ผ่อนชำระเหมาะสมกับรายได้ที่มีร่วมกับสหกรณ์ ปัจจุบันได้หารือกับกองทัพบก กรมป่าไม้ สหกรณ์ต่าง ๆ และอยู่ระหว่างการหารือกับกองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักปลัดฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีวงเงินเกือบ 140,000 ล้านบาท มียอดค้างชำระกว่า 40,000 ล้านบาท

นายกฯ ชื่นชมทุกหน่วยงานบูรณาการขับเคลื่อนแก้หนี้บุคลากรรัฐ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชื่นชมในการตั้งใจทำงานของทุกภาคส่วนที่ได้แถลงผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเงินกู้ของราชการ ทั้งในส่วนของการแก้ไขกฎหมาย ไม่ต้องให้ออกจากราชการ ทำให้มีเงินใช้อย่างน้อย 30% มีสินเชื่อพิเศษ และให้ความสำคัญกับการ “ลดดอกเบี้ย” ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ทั้งนี้ มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามามีบทบาทการทำงานร่วมกันมากขึ้น ทำงานให้หนักขึ้น และเชิญให้ข้าราชการเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น รวมถึงให้ทุกหน่วยงานหา

แนวทางการทำงานร่วมกัน และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น เช่น การหารายได้เพิ่มเติมให้กับครอบครัวของกำลังพล เช่น การหาที่อยู่อาศัยให้กับกำลังพล การรักษาพยาบาล สวัสดิการต่าง ๆ ลดดอกเบี้ย เพิ่มวงเงิน หาแนวทางร่วมกัน เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น

ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2567


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar