ประวัติความเป็นมาสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่

 

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่

        สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล โดยมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงซึ่งเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงที่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้ดีที่สุดในสมัยนั้นดำเนินการส่งกระจายเสียงเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกและความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การทำไร่เลื่อนลอย ปลูกพืชเสพติด และเพื่อความมั่นคงของชาติ

                  

         ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนมอบเครื่องส่งกำลังส่งสูง 100 กิโลวัตต์ยี่ห้อ GATES รุ่น VP 100 ของบริษัทเกทส์ เรดิโอ จำกัดผลิต ออกจำหน่าย เมื่อปี 2510 ในราคา 7 ล้าน 7 แสนบาท กรมประชาสัมพันธ์โดยกองประชาสัมพันธ์เขตลำปางในสมัยนั้น ได้จัดหาสถานที่ตั้งสถานี โดยได้รับความร่วมมือจาก พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จัดสรรที่ดินราชพัสดุ ที่ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 15 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารห้องส่ง และนายรง ทัศนาญชลี ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน จัดสรรที่ดิน ที่บ้านประตูโขง ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เนื้อที่ 100 ไร่ เป็นที่ก่อสร้างอาคารเครื่องส่ง รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารห้องส่งขนาด 3 ชั้นครึ่งวงเงิน 2 ล้านบาท และอาคารเครื่องส่งที่จังหวัดลำพูน วงเงิน 1 ล้าน 4 แสนบาท การติดตั้งเครื่องส่ง 100 กิโลวัตต์แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2511 ส่งกระจายเสียงอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2511 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พลเอกกฤช ปุณณกันต์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2514 ในระยะแรกส่งกระจายเสียงภาษาชนเผ่า 3 ภาษา คือ ม้ง เมี่ยน และ ปากะญอ (กะเหรี่ยง) ต่อมาได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงภาษาชนเผ่าอีก 4 ภาษา คือลาหู่ ลีซู อาข่า และภาษาไทยใหญ่

                             

       

        ต่อมาในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรกิจการส่งกระจายเสียงภาคภาษาชนเผ่า ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ทรงมีรับสั่งถามถึงความแตกต่างของภาษาการแต่งกาย และการจัดรายการของแต่ละชนเผ่า ด้วยความสนพระทัย ยังคงความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ แก่ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ภาคภาษาชนเผ่า เป็นล้นพ้น

    

        ปัจจุบัน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์ ส่งกระจายเสียง ๔ คลื่นความถี่ ในระบบ A.M. ๒ คลื่นความถี่ ประกอบด้วย ระบบ A.M. 1476 KHz. ปัจจุบันออกอากาศภาษาชนเผ่า 7 ภาษา เพื่อเป็นสื่อกลางสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับงบประมาณสนับสนุนตามโครงการพัฒนาการสื่อสารการส่งกระจายเสียงวิทยุภาคภาษาชนเผ่า 7 ชนเผ่า ภาคเหนือตอนบนของประเทศ จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งได้นำมาพัฒนาเนื้อหาการนำเสนอข้อมูลประชาสัมพันธ์ และพัฒนาบุคลากร ผู้จัดรายการวิทยุภาคภาษาชนเผ่า ให้ความรู้และให้บริการข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ของกลุ่ม     ชาติพันธุ์  เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพช่องทางการสื่อสาร ด้วยการปรับปรุงเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ระบบ A.M.1476 KHz  ให้ครอบคลุมพื้นที่การรับฟังของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง ๙ ชนเผ่าในภาคเหนือตอนบน 

   

        ระบบ A.M.639 KHz. เริ่มออกอากาศปี พ.ศ.2539 ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดในระบบ A.M. STEREO ขนาดกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ เป็นสถานีนำร่องในการพัฒนาการส่งกระจายเสียงในระบบ A.M. เพื่อให้มีคุณภาพเสียงใกล้เคียงระบบ F.M. แต่มีประสิทธิภาพในการส่งกระจายเสียงกว้างไกลกว่า รัศมีการส่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๑ ได้รับงบประมาณจากกรมประชาสัมพันธ์ ในการปรับปรุงประสิทธิภาพสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ระบบ A.M. ขนาดกำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์  ปัจจุบันเป็นสถานีถ่ายทอดเสียงการประชุมสภาและการแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี
และระบบ F.M. ๒ คลื่นความถี่ ประกอบด้วย F.M. 98 MHz. เริ่มจากการใช้เป็นเครื่อง F.M. Link ถ่ายทอดสัญญาณรายการจากห้องส่งที่เชียงใหม่ ไปยังอาคารเครื่องส่งที่ลำพูน ช่วงทดลองได้ใช้เครื่องส่งขนาดกำลังส่ง 50 วัตต์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นเครื่องส่งขนาด 1 กิโลวัตต์ สามารถรับฟังได้ชัดเจนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ในปี พ.ศ. 2535 กรมประชาสัมพันธ์ มีนโยบายให้วิทยุ FM รับโฆษณาเพื่อนำรายได้ใช้ในการพัฒนาอุปกรณ์ส่งกระจายเสียงให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้เพิ่มกำลังเครื่องส่งเป็น 2 กิโลวัตต์ และจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งเพื่อรายการวิทยุภาคประชาชนมีส่วนร่วม

        ระบบ F.M. 93.25 MHz .เริ่มออกอากาศเมื่อปลายปี พ.ศ. 2527 เพื่อตอบสนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่ โดยออกอากาศภาคภาษาอังกฤษ วันละ 2 ช่วงในภาคเช้า และภาคค่ำ รายการภาคภาษาอังกฤษได้หยุดออกอากาศเมื่อปี พ.ศ.2537 ต่อมา เริ่มออกอากาศอีกครั้งในปี พ.ศ.2547 โดยมีกลุ่มอาสาสมัครทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยร่วมกันผลิตรายการ ส่วนรายการภาคภาษาไทยและคำเมือง เน้นการผลิตรายการเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน  ในปี พ.ศ.2544 สวท.เชียงใหม่ F.M. 93.25 MHz. ได้รับรางวัลสถานีสร้างสรรค์สังคมดีเด่นจากชมรมนักวิทยุและโทรทัศน์เชียงใหม่-ลำพูน และในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ระบบ F.M. ขนาดกำลังส่ง ๑ กิโลวัตต์ พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบทดแทน จากกรมประชาสัมพันธ์
        ที่ผ่านมา ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งมั่นให้บริการประชาชนผู้ฟังด้วยความเต็มใจและเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรางวัลสถานีวิทยุดีเด่นของกรมประชาสัมพันธ์  ประจำปี 2553 พร้อมที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของบุคลากรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิดวิทยุแห่งประเทศไทยให้ความรู้ คู่ความสุข

      


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar