องคมนตรี ติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่

องคมนตรี ตรวจเยี่ยมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (22 มี.ค. 66) พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งลูกเห็บ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่า ณ ท่าอากาศยานกองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ได้เดินทางไปประชุมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ ณ ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานผลการปฏิบัติการฝนหลวงในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และยั้บยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์-20 มีนาคม 2566 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 วัน รวม 36 เที่ยวบิน ฝนตกจากการปฏิบัติการคิดเป็นร้อยละ 50 โดยมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จำนวนกว่า 14 ล้านไร่  ด้านภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ มีการขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 6 วัน 8 เที่ยวบิน ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 397 นัด พบรายงานลูกเห็บตกเล็กน้อยในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย และภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 12 วัน รวม 28 เที่ยวบิน และใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์-20 มีนาคม 2566 จำนวน 4 วัน รวม 42 เที่ยวบิน ตักน้ำได้ปริมาณ 25,200 ลิตร 

สำหรับปีนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งเป้าปฏิบัติการฝนหลวงแบบเต็มอิ่ม คือ การระดมทรัพยากรที่มีอยู่ทำฝนในพื้นที่เป้าหมายให้ทันเวลาเมื่อสภาวะอากาศพร้อม โดยจะให้มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงพร้อมกันหลายชุด และถ้าหากการปฏิบัติในพื้นที่นั้นแล้วเสร็จ และพื้นที่เป้าหมายอื่นมีสภาพอากาศที่เหมาะสม จะย้ายไปปฏิบัติการในพื้นที่นั้นพร้อมกันทันทีเพื่อให้ได้ฝนตกในปริมาณที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่เกษตรกรซึ่งปลูกพืชไม่เหมือนกันอาจไม่ต้องการน้ำฝน ก็มีการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตได้ ทั้งนี้ เพื่อสนองงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการพระราชดำริฝนหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร

จากนั้นช่วงบ่าย  องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา  อ.ดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่  เยี่ยมชมเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง  ซึ่งเป็นอีกเทคนิคหนึ่งของการทำฝนที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดทางด้านการบิน เช่น ความปลอดภัยในการบินจากสภาพอากาศปิด พื้นที่ที่เป็นแนวภูเขาสูง หรือพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางการบินของสายการบินพาณิชย์  โดยเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นการทำงานในขั้นตอนที่ 2 คือการเลี้ยงเมฆให้อ้วน ก่อนที่จะใช้เครื่องบินโจมตีกลุ่มเมฆให้ตกเป็นฝนในพื้นที่เป้าหมายต่อไป

ดารุณี  เมฆสุวรรณ // ทีมข่าว สวท.เชียงใหม่ // 22 มี.ค. 66
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar