มทร.ล้านนา จับมือ ธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

มทร.ล้านนา จับมือ ธนาคารออมสิน เฟ้นหาสุดยอดทีมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น  ร่วมพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มชุมชน  

สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับ ธนาคารออมสิน  จัดกิจกรรมการนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2566  เพื่อคัดเลือกตัวแทนทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศไปแข่งขันระดับประเทศต่อไป  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ จัตตุฤทธิ์  ทองปรอน  รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นประธานเปิดกิจกรรม  นางวิไลพร  พราหมณะนันทน์  ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเขตเชียงใหม่ 2  ผู้แทนจากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่  คณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว  ณ โรงแรมคุ้มภูคำ  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่  และผ่านระบบ Zoom Meeting

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จัตตุฤทธิ์  ทองปรอน  เปิดเผยว่า  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ทำบันทึกความร่วมมือด้านการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นกับธนาคารออมสิน  โดยธนาคารออมสินได้สนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน   โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษานำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม  ผสมผสานกับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น  เสริมสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด  ส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดทำบัญชีต้นทุนของสินค้าหรือบริการเพื่อกำหนดราคาขายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  เป็นการยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มชุมชน  

กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2566  ของทีมนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 6 ทีม  โดยมีคณะกรรมการจาก 3 ฝ่ายร่วมให้การตัดสินได้แก่ ตัวแทนธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่  ตัวแทนธนาคารออมสินภาค 8  และตัวแทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  ผลการแข่งขันทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ (The Best) ได้แก่ทีม Fynn (ฟินน์) ซึ่งนำเสนอโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ล้านนาพร้อมปรุง โดยร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปน้ำปู ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่  พัฒนาน้ำปูกึ่งสำเร็จรูปเพียงเติมน้ำหรือโรยบนอาหาร พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานของสินค้าให้ถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค และยังสามารถเก็บไว้ได้นาน ปราศจากเชื้อรา รวมถึงการส่งเสริมให้ได้รับมาตรฐานอาหารและยา (อย.) และการสร้างความร่วมมือกับองค์กรเอกชนในการทำ OEM หลังจากการพัฒนาของนักศึกษาทำกลุ่มชุมชนให้มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.6  ทั้งนี้ ทีมชนะเลิศจะเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาไปแข่งขันในระดับประเทศต่อไป

ดารุณี  เมฆสุวรรณ // ทีมข่าว สวท.เชียงใหม่ // 13 ก.ย.66
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar