สสจ.เชียงใหม่ ห่วยใยประชาชนในการดูแลสุขภาพช่วงที่มีอากาศร้อนจัด

สาธารณสุขเชียงใหม่แนะประชาชนงดทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานในวันที่มีอากาศร้อน ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคฮีทสโตรค

ดร.ทรงยศ คำชัย  หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 พฤษภาคม 2567 ของกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน  พบผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 2 ราย ในจังหวัดเชียงใหม่ และแพร่  เป็นเพศชาย อายุ 59 – 60 ปี  สาเหตุเกิดจากอากาศร้อนจัดประกอบกับมีโรคประจำตัว 1 ราย  และมีพฤติกรรมเสี่ยงคือทำกิจกรรมกลางแจ้ง 1 ราย  
จากลักษณะการเปลี่ยนแปลงระดับอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง และอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะอ้วน ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น ไต หัวใจ โรคเกี่ยวกับปอด และผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ ยังพบความเสี่ยงสูงในกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ สูบบุหรี่ และดื่มสุรา พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแดด หรือขณะที่อากาศร้อนจัด จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคลมแดด หรือ Heat stroke ซึ่งเป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงมากจากการอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิร้อนนาน ๆ จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวเพื่อลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ ไต และเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โดยให้สังเกตสัญญาณเตือน ได้แก่ อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแห้ง ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก ความดันโลหิตลดลง หัวใจเต้นเร็วมาก ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว กระหายน้ำมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด และอาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติ

ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านในช่วงอากาศร้อนจัด จัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย/การทำงานให้มีการระบายอากาศที่ดี งดออกกำลังกาย ทำงาน หรือกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน และไม่ออกแรงหรือทำงานหนักมากเกินไปในวันที่มีอากาศร้อน ปรับสภาพร่างกายให้สามารถทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนได้อย่างเหมาะสม  ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติด ในช่วงที่มีอากาศร้อน ไม่ควรเปิดพัดลมแบบจ่อตัวในขณะที่อากาศร้อนมาก (อุณหภูมิสูงกว่า 37°C) เพราะพัดลมจะดูดความร้อน เข้าหาตัว ควรเปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศ หากมีอาการ หรือพบผู้มีอาการที่สงสัยเกี่ยวข้องกับความร้อน ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดพาเข้าไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก แล้วทำการปฐมพยาบาลโดยระบายอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น ปลดกระดุมเสื้อ คลายเสื้อให้หลวม  ใช้ผ้าเย็นประคบตามซอกหรือข้อพับต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วย  หากผู้ป่วยยังมีสติอยู่ให้ดื่มน้ำเย็น แต่ถ้าหมดสติ ห้ามป้อนน้ำเพราะอาจทำให้สำลัก  จากนั้นรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือติดต่อสายด่วน 1669 

ดารุณี  เมฆสุวรรณ // สวท.เชียงใหม่ // 7 พ.ค.67
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar